เรื่องราวการผจญภัยเริ่มต้นสำหรับเกมสวมบทบาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ยินดีต้อนรับสู่ดันเจียนแอนด์ดรากอน: ภยันตรายในไพน์บรูก
ยินดีต้อนรับสู่การผจญภัยตลอดชีวิต!
ภยันตรายในไพน์บรูก (Peril in Pinebrook) เป็นเนื้อเรื่องการผจญภัยเริ่มต้นของเกมดันเจียนแอนด์ดรากอนสำหรับผู้เล่นอายุน้อย แต่มันก็สามารถทำให้ผู้เล่นทุกอายุสนุกได้
ภยันตรายในไพน์บรูกมีตัวละคร 4 ตัวพร้อมสำหรับเล่นเกม D&D เกมแรกของคุณ กฏที่ถูกปรับให้ง่ายขึ้นทำให้ดันเจียนมาสเตอร์ (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ DM) เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินเกมโดยไม่ต้องใช้หนังสือกฏเพิ่มเติมหรือต้องมีความรู้เรื่องกฏของเกมมาก่อน
จำนวนผู้เข้าร่วมที่แนะนำในการเล่นคือ DM 1 คนและผู้เล่น 4 คน แต่เราก็มีคำแนะนำสำหรับผู้เล่นจำนวนน้อยกว่านั้น ถ้าคุณมีผู้เล่นมากกว่า 4 คน สามารถใช้ข้อมูลตัวละครสำเร็จมาใช้ซ้ำได้
พื้นฐานเกม
ดันเจียนแอนด์ดรากอนเป็นเกมสวมบทบาทที่เป็นการร่วมกันเล่าเรื่อง ผู้เล่นแต่ละคนจะสวมบทบาทเป็นตัวละครนักผจญภัย เป็นฮีโร่ที่มีทักษะและความรู้ ซึ่งบางครั้งมีเวทย์มนต์ ที่สามารถช่วยให้พวกเขาข้ามผ่านความท้าทายและคว้าเอาความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
ผู้ร่วมเกมคนหนึ่งต้องรับหน้าที่เป็นดันเจียนมาสเตอร์ (DM) DM จะทำหน้าที่เป็นคนดำเนินเรื่อง เป็นผู้เก็บความลับ และเป็นกรรมการ ในเอกสารนี้จะมีข้อมูลของทุกสิ่งที่คุณต้องการในการเริ่มเล่นเป็น DM
การผจญภัย
ตัวละครในเกมดันเจียนแอนด์ดรากอนจะรับภาระกิจไปตลอดชีวิตของพวกเขา การเดินทางของฮีโร่และวีรกรรมเสี่ยงตายด้วยความกล้าหาญที่กลายเป็นตำนาน หรืออาจจะเป็นเรื่องราวแห่งการสูญเสีย
ภยันตรายในไพน์บรูกมีคำใบ้ ข้อแนะนำ และคำอธิบายกฏที่จะคอยช่วยเหลือดันเจียนมาสเตอร์มือใหม่ในการดำเนินการผจญภัย ถ้าคุณเป็น DM คุณสามารถรันการผจญภัยนี้ตามลำดับที่ปรากฏในเอกสารนี้ หรือคุณอาจจะเพิ่มเติมเรื่องราวบางส่วนเข้ามาก็ได้ จินตนาการของคุณและผู้เล่นคนอื่นจะทำให้เกม D&D ของพวกคุณมีเอกลักษณ์
ในบท “การดำเนินการผจญภัย” จะมีข้อมูลที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจว่าคุณอยากจะเป็น DM หรือไม่ ถ้าคุณอยากจะเล่นเป็นผู้เล่น อย่าอ่านบท “แนะนำการผจญภัย” หรือข้อความใด ๆ ที่หลังจากนั้น ถ้าคุณเผลอไปอ่านคุณจะถูกสปอยล์จนความสนุกหายไป
กฏการเล่น
ดันเจียนแอนด์ดรากอนเป็นเกมในกลุ่มพิเศษที่เรียกว่าเกมสวมบทบาท (roleplaying game: RPG) ใน D&D กฏต่าง ๆ จะช่วยตัดสินว่าตัวละครผ่านความท้าทายที่เผชิญหน้าได้หรือไม่ มันยังช่วยให้ทั้งกลุ่มเล่าเรื่องที่สนุกสนาน น่าตื่นเต้นและเป็นที่น่าจดจำ
กฏจะมีคำอธิบายอยู่ในบท “การใช้กฏเกม” บท “การดำเนินการผจญภัย” จะให้คำแนะนำแก่ DM ในการชี้นำให้ผู้เล่นดำเนินเกมผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเกม ข้อความในเนื้อเรื่องการผจญภัยก็จะมีคำอธิบายถึงกฏแทรกอยู่ตลอดเรื่อง
เครื่องมือ
ในการเล่นเกมนี้ คุณต้องใช้เอกสารชุดนี้และชุดลูกเต๋า อย่างน้อยต้องมีลูกเต๋า 20 หน้า 1 ลูก และลูกเต๋า 6 หน้าอีก 1 ลูก เกมจะดำเนินได้รวดเร็วขึ้นถ้าผู้เล่นแต่ละคนมีลูกเต๋าของตัวเอง แต่จะยืมกันใช้ก็ไม่ผิดนะ ถ้าคุณไม่มีลูกเต๋าเหล่านี้ คุณสามารถใช้ลูกเต๋าออนไลน์ก็ได้
ผู้เล่นแต่ละคนควรมีอุปกรณ์จดโน๊ตและบันทึกความเปลี่ยนแปลงของชีตตัวละคร (character sheet) กระดาษและดินสอก็ดี
ชีตตัวละคร (คาแร็คเตอร์ชีต Character Sheets)
เอกสารชุดนี้มีชีตตัวละครสำเร็จ 4 ตัวแถมมาด้วย แต่ละใบจะมีคำอธิบายรายละเอียดของแต่ละตัวละครรวมถึงกฏเบื้องต้น ให้ผู้เล่นเลือกตัวละครที่อยากเล่น ถ้าคุณมีผู้เล่นมากกว่า 4 คน สามารถใช้ตัวละครซ้ำได้ซึ่งสามารถเปลี่ยนชื่อและรายละเอียดให้แตกต่าง โดยตัวละครจะมีความสามารถและอุปกรณ์ติดตัวเหมือนกัน
- อีวานดอน ฮาร์ต (Evandon Haart)
- กาแลนไทน์ เบอร์เชนเบิร์ก (Gallantine Birchenbough)
- นูรา เอลเดนฟิลด์ (Noorah Eldenfield)
- เชลไฟร์ สเตาท์ฮาร์ต (Shalefire Stoutheart)
ในบท “ช่วยเหลือเรื่องตัวละคร” ในช่วงท้ายของเอกสารจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีตตัวละคร
ประสบการณ์การเล่น
ภยันตรายในไพน์บรูกจะใช้เวลาเล่นประมาณ 60-90 นาที สามารถพักเบรกหรือเล่นเป็นเซสชันสั้น ๆ ได้
เวลาในการเล่นอาจจะยาวนานกว่านี้ได้ถ้าต้องการ ให้เวลากับผู้เล่นในการแสดงสวมบทบาทตัวละครของพวกเขาและพูดคุยกับตัวละครอื่น ๆ ซึ่งจะเพิ่มความสนุกให้มากขึ้นอีกเมื่อเล่น D&D
ก่อนจะเริ่มเล่น DM ควรอ่านเอกสารนี้จนจบเพื่อให้เข้าใจเรื่องราว เหตุการณ์ และกฏที่คุณจะใช้ในการดำเนินการผจญภัย
การใช้กฏ
ภยันตรายในไพน์บรูกใช้กฏแบบง่ายเพื่อสอนการเล่นให้กับ DM และผู้เล่นหน้าใหม่ ข้อความในเนื้อเรื่องการผจญภัยจะมีทิปที่ DM และผู้เล่นน่าจะนำไปใช้ในเกมได้
แอ็คชันของตัวละคร
แอ็คชันของตัวละครจะเป็นตัวตัดสินถึงความสำเร็จหรือล้มเหลว คุณใช้อาวุธโจมตีมอนสเตอร์นั้นโดนหรือเปล่า? คุณทรงตัวอยู่บนทางแคบขณะเดินทางขึ้นเขาได้หรือไม่? คุณโน้มน้าวใจมังกรไม่ให้กินคุณได้หรือไม่?
คุณจะได้คำตอบของคำถามเหล่านี้ในการเล่นเกม โดยใช้ลูกเต๋า d20!
การทอยลูกเต๋า d20
ลูกเต๋า 20 หน้า (d20) เป็นลูกเต๋าที่ใช้มากที่สุดในเกม D&D มันจะถูกนำมาทอยเมื่อตัวละคหรือสิ่งมีชีวิตพยายามที่จะทำอะไรที่สำคัญ
สิ่งที่ตัวละครพยายามจะทำมักจะอยู่ภายใต้ “การโจมตี” และ “ทักษะ” บนชีตตัวละคร ถัดไปจากการโจมตีและทักษะเป็นตัวเลขและเครื่องหมาย เช่น “+5 to hit” (to hit คือทอยโจมตี เช็คว่าโจมตีโดนหรือไม่) ตัวเลขนี้ให้คุณนำไปบวกเพิ่มเมื่อตัวละครของคุณทำการโจมตีหรือใช้ทักษะ
ตัวอย่างเช่น ใช้ชีตตัวละครของเชลไฟร์ สเตาท์ฮาร์ต มีรายการ “ขวานมือ (Handaxe)” ภายใต้ “การโจมตี (Attacks)” และมี “+6 to hit” ระบุอยู่ข้าง ๆ ถ้าเชลไฟร์ต้องการโจมตีมอนสเตอร์ด้วยขวานมือ ผู้เล่นต้องทอย d20 หนึ่งลูก หนึ่งครั้ง ถ้าผลออกมา 10 ผู้เล่นจะเพิ่ม +6 เข้าไปทำให้ค่าสุดท้ายเป็น 16
แล้วผู้เล่นจะรู้ได้ยังไงว่าการทอยนั้นสำเร็จหรือล้มเหลวล่ะ? อ่านต่อเลย
ระดับการป้องกัน (อาร์เมอร์คลาส: Armor Class)
ตัวเลขที่ตัวละครพยายามจะให้ได้เท่ากันหรือมากกว่าในการทอยโจมตีเรียกว่าระดับการป้องกันหรืออาร์เมอร์คลาส (เรียกสั้น ๆ ว่า AC) ยิ่งมีค่าสูง ยิ่งแสดงว่าสิ่งมีชีวิตนี้โจมตีโดนได้ยากขึ้น ในตัวอย่างที่แล้ว การทอยโจมตีของเชลไฟร์ด้วยขวานมือจะโจมตีสิ่งมีชีวิตที่มีอาร์เมอร์คลาส 16 หรือน้อยกว่า
ความเสียหาย
เมื่อทอยโจมตีโดน (hits) มันต้องเกิดความเสียหาย วิธีการทอยหาค่าความเสียหายมีระบุไว้ต่อจากการโจมตีบนชีตตัวละคร ขวานมือของเชลไฟร์ทำความเสียหาย “1d6 + 4” ดังนั้นผู้เล่นจะทอยลูกเต๋า 6 หน้า 1 ลูก และเพิ่มค่า 4 เข้าไป
ระดับความยาก (ดิฟฟิคัลตี้คลาส: Difficulty Class)
ระดับความยาก (DC) เป็นจำนวนที่ตัวละครต้องทอยให้ได้เท่ากับหรือมากกว่าเพื่อให้แอ็คชันที่ไม่ใช่การโจมตีทำได้สำเร็จ ทั้งนี้รวมถึงการทอยเพื่อใช้ทักษะ
ตัวอย่างเช่น ถ้าเชลไฟร์ต้องการเลื่อนหินก้อนใหญ่ที่ขวางทางเข้าถ้ำอยู่ นั่นต้องใช้ทักษะที่เรียกว่า “การกรีฑา (Athletics)” ภายใต้ช่อง “ทักษะ (Skills)” ในชีตตัวละครของเชลไฟร์ จะเขียนไว้ว่า “Athletics +6” ดังนั้นให้ผู้เล่นของเชลไฟร์ทอยลูกเต๋า d20 1 ครั้งและเพิ่ม +6 เข้าไป ถ้าระดับความยาก (DC) ของการเลื่อนก้อนหินเป็น 12 ผู้เล่นต้องทอยให้ได้ 6 หรือมากกว่าจึงจะทำให้เชลไฟร์เลื่อนก้อนหินได้สำเร็จ
ระดับความยาก (DC) สำหรับให้ตัวละครพยายามทำนั้นจะมีระบุไว้ในเนื้อเรื่องการผจญภัยของเกม โดยทั่วไปแล้วระดับความยากมักจะเท่ากับ 10 (DC 10) ซึ่งถือว่าง่าย DC 15 ถือว่าท้าทาย อุปสรรคในการผจญภัยนี้มักจะอยู่ในระดับ 10 ดันเจียนมาสเตอร์สามารถปรับค่า DC ให้มากหรือน้อยเพื่อให้แอ็คชันง่ายหรือยากขึ้นได้ตามความเหมาะสม DM สามารถตั้งระดับความยากขึ้นเองเลยก็ได้หากสิ่งที่ผู้เล่นอยากทำไม่ได้มีระบุไว้ในเนื้อหา
การทอยแบบได้เปรียบและเสียเปรียบ (แอดแวนเทจ และ ดิสแอดแวนเทจ: Advantage and Disadvantage)
ในการผจญภัยบางครั้งตัวละครก็สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย และในบางเวลาโชคชะตาก็ไม่เป็นใจ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในเกม D&D ในรูปแบบของการทอยแบบได้เปรียบและเสียเปรียบ
ทิปสำหรับ DM การทอยแบบได้เปรียบและเสียเปรียบเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในเกม ทำให้การทอย d20 มีแนวโน้มจะสำเร็จหรือล้มเหลวได้ ดังนั้นต้องใช้อย่างรอบคอบ มันสามารถใช้ในการให้รางวัลแก่ผู้เล่นที่มีไหวพริบในการเล่น หรือเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงโชคดีหรือโชคร้ายที่มีผลกับเนื้อเรื่อง ในกฏรูปแบบเต็มของเกม กฏบางกฏจะให้ตัวละครทอยแบบได้เปรียบหรือเสียเปรียบโดยอัตโนมัติ ในการผจญภัยนี้ DM สามารถตัดสินใจจะให้ผู้เล่นทอยแบบได้เปรียบหรือเสียเปรียบได้ ถ้าตัวละครได้รับสิทธิ์การทอยแบบได้เปรียบและถูกให้ทอยแบบเสียเปรียบด้วย จะทำให้หักล้างกันไปและทอยแบบปกติ
การทอยแบบได้เปรียบ (แอดแวนเทจ: Advantage)
ถ้าเชลไฟร์โจมตีมอนสเตอร์ด้วยขวานมือในขณะที่มอนสเตอร์ถูกทำให้ไขว้เขวโดยตัวละครอื่น มอนสเตอร์นั้นจะไม่สามารถมองเห็นการโจมตีนั้นได้ DM อาจจะตัดสินใจให้มอนสเตอร์นั้นถูกโจมตีได้ง่ายเมื่อถูกทำให้ไข้เขว ดังนั้นเชลไฟร์จะได้ทอยโจมตีแบบได้เปรียบ
การทอยแบบได้เปรียบ (Advantage) หมายถึงแทนที่จะทอย d20 ครั้งเดียวในการทอยโจมตี ผู้เล่นของเชลไฟร์จะทอย d20 2 ครั้งและใช้ผลที่มากกว่า ต่อมาจึงเพิ่มค่าโมดิไฟเออร์ปกติ (+6 สำหรับขวานมือของเชลไฟร์) เพื่อให้ได้ค่าการโจมตีสุดท้าย
การทอยแบบเสียเปรียบ (ดิสแอดแวนเทจ: Disadvantage)
การทอยแบบเสียเปรียบก็เป็นทำนองเดียวกับได้เปรียบแต่กลับกัน ถ้าบางอย่างในเกมมันยากกว่าปกติในการทำ การทอยสำหรับแอ็คชันนั้นจะทอยแบบเสียเปรียบ ตัวอย่างเช่น เชลไฟร์จะปีนขึ้นไปบนหน้าผาโดยใช้เชือก มีมอนสเตอร์อยู่ข้างบนนั้นกำลังเขย่าเชือกอยู่ เพราะความที่มีอุปสรรคเพิ่มขึ้นในการปีน เชลไฟร์จะทอย d20 เพื่อปีนเชือกขึ้นไปโดยทอยแบบเสียเปรียบ
การทอยแบบเสียเปรียบหมายถึงแทนที่จะทอย d20 ครั้งเดียวเพื่อเช็คทักษะการกรีฑา (Athletics) ในการปีนหน้าผา ผู้เล่นของเชลไฟร์ต้องทอย d20 2 ครั้งและใช้ค่าที่น้อยกว่า จากนั้นเพิ่มค่าโมดิไฟเออร์ปกติ (+6 จากคะแนนทักษะการกรีฑา (Athletics) ของเชลไฟร์) เพื่อให้ได้ค่าสุดท้าย
ฮิตพอยต์ (Hit Points)
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดใน D&D จะมีค่าฮิตพอยต์ ตัวเลขนี้จะแสดงให้เห็นถึงความเสียหายสูงสุดที่สิ่งมีชีวิตจะรับได้ก่อนที่จะหมดสติ (unconscious) หรือพ่ายแพ้ไป เมื่อตัวละครหรือสิ่งมีชีวิตได้รับความเสียหายจากการโจมตีหรือจากภัยอันตรายในเกม จำนวนความเสียหายจะมาหักลบออกจากค่าฮิตพอยต์นี้
ถ้าสิ่งมีชีวิตมีค่าฮิตพอยต์เป็น 0 แสดงว่าพวกมันพ่ายแพ้ ผู้เล่นสามารถตัดสินใจได้ว่าจะหมายถึงตายหรือหมดสติหรือมันวิ่งหนีไป
เมื่อตัวละครมีค่าฮิตพอยต์เป็น 0 พวกเขาจะหมดสติ (unconscious) ในการผจญภัยนี้ ตัวละครที่มีฮิตพอยต์เป็น 0 จะหมดสติไปจนกระทั่งได้รับการรักษาหรือจนจบการต่อสู้ โดยจะได้รับฮิตพอยต์กลับมา 1 โดยอัตโนมัติ ในการผจญภัยจะมีหลากหลายวิธีในการฟื้นฟูค่าฮิตพอยต์ได้
การดำเนินการผจญภัย
DM จะใช้จินตนาการของพวกเขาในการนำเสนอการผจญภัยให้ผู้เล่นได้รับรู้ DM สามารถเพิ่มความน่าตื่นเต้นให้กับเกมในขณะที่อธิบายสถานการณ์ และช่วยผู้เล่นในการสำรวจการเดินทางโดยการใช้แอ็คชัน
การนำเสนอการเผชิญหน้า
การผจญภัยนี้แบ่งออกเป็น “การเผชิญหน้า (เอ็นเคาท์เตอร์: encounter)” ซึ่งรูปแบบจะเหมือนฉากในภาพยนต์หรือการแสดงโชว์ แต่ละการเผชิญหน้าจะมีความท้าทายเฉพาะ เมื่อใดที่ผู้เล่นสามารถผ่านความท้าทายได้สำเร็จ ก็จะเคลื่อนที่ไปฉากถัดไป การไหลของเกมมีอธิบายด้านล่างนี้
การไหลของเกม (Game Flow)
ในการเล่นแต่ช่วงของ D&D จะเริ่มต้นด้วย DM และผู้เล่นคนอื่นอยู่ในการสนทนากัน DM จะอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันที่ตัวละครอยู่ ผู้เล่นสามารถถามคำถามเกี่ยวกับสถานะการณ์ และ DM จะตอบคำถามและอธิบายเพิ่มเติมว่ามีอะไรเกิดขึ้น
จากนั้น DM จะถามคำถามที่สำคัญที่สุดในกล่องเครื่องมือของ DM:
“คุณจะทำอะไรต่อ?”
จากจุดนี้ ผู้เล่นควรจะอธิบายว่าพวกเขาต้องการให้ตัวละครของพวกเขาทำอะไร (ถ้าสิ่งที่อยากทำนั้นเป็นไปไม่ได้ DM สามารถบอกได้ว่าทำไม่ได้และขอให้เลือกทำอย่างอื่น ตัวอย่างเช่น ตัวละครไม่สามารถเดินผ่านกำแพงได้เว้นแต่จะมีความสามารถพิเศษหรือใช้เวทย์มนต์ที่ทำให้ทำได้)
ถ้าแอ็คชันที่ต้องการทำนั้นเป็นไปได้และง่ายมาก ๆ ตัวละครจะทำสำเร็จได้โดยอัตโนมัติ การเปิดประตูที่ไม่ได้ล็อคหรือยกของเบา ๆ ไม่ได้ต้องการความพยายามระดับฮีโร่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องทอย d20 ก็ได้
เมื่อแอ็คชันนั้นอยู่ระหว่างง่ายกับเป็นไปไม่ได้ การพยายามทำอาจจะนำไปสู่การทำได้สำเร็จหรือล้มเหลวได้ นั่นเป็นเวลาที่ DM จะขอให้ทอย d20 ดูบท “การทอยลูกเต๋า d20” ในช่วงต้นของเอกสาร
การทอย d20 บวกกับค่าโมดิไฟเออร์ เป็นตัวตัดสินว่าแอ็คชันนั้นสำเร็จหรือล้มเหลว แล้วสำเร็จหรือล้มเหลวนี่มันหมายความว่ายังไงในการผจญภัยล่ะ? นี่เป็นสิ่งที่คุณและผู้เล่นจะเป็นคนเล่าเรื่องราวนี้ด้วยกัน
การบรรยายความสำเร็จหรือล้มเหลว
เมื่อการทอย d20 สำเร็จหรือล้มเหลว DM และผู้เล่นจะเปลี่ยนผลนั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ดำเนินอยู่ มันเป็นยังไงเมื่อมอนสเตอร์ถูกพิชิตได้ เชลไฟร์พูดอะไรหรือทำอะไรถ้าหินหนักที่ขวางทางเข้าถ้ำนั้นไม่ขยับเลย จุดเหล่านี้ในเกมสามารถเป็นโอกาสที่จะจุดประกายการเล่าเรื่องและการสวมบทบาทได้
แต่ก็ต้องจำไว้ว่างานของ DM คือการผลักให้เกมดำเนินต่อไป ถ้าการอธิบายทุกการโจมตีในการต่อสู้ที่ยาวนานทำให้เบื่อ ก็ต้องตัดบทเหลือแค่บอกความเสียหายที่ทำได้และไปต่อที่ความตื่นเต้นอื่น
ทิปสำหรับดันเจียนมาสเตอร์
นี่เป็นทิปสำหรับ DM ที่จะช่วยให้รันเกมที่สนุก
กฏ 0 กฏ 0 ของ D&D นั้นง่ายมาก จงสนุก! มันไม่เป็นไรเลยถ้าทุกคนจะเห็นพ้องกันว่าการเปลี่ยนกฏนั้นทำให้สนุกขึ้น
ต้องช่วยเหลือกัน ผู้เล่นและ DM นั้นอยู่ทีมเดียวกัน DM ไม่ได้เล่นอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้เล่น DM จะชนะหากผู้เล่นสนุกและเรื่องราวนั้นตื่นเต้นเป็นที่น่าจดจำ
ใช้ “ทำได้, และ…” หรือ “ทำไม่ได้, แต่…“ ให้ผู้เล่นทำสำเร็จได้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้พวกเขาร่วมเล่าเรื่องไปด้วย ถ้าพวกเขาต้องการจะทดลองทำอะไรที่เกินความคาดหมาย พยายามบอกว่า “ทำได้” จากนั้นเอาไอเดียมาสร้างเป็นเรื่องราว ถ้าคุณต้องบอกว่า “ทำไม่ได้” ให้แนะนำทางเลือกอื่นที่จะให้พวกเขาบรรลุจุดมุ่งหมายได้
ใช้จินตนาการของคุณ ภยันตรายในไพน์บรูกเป็นเพียงโครงร่างสำหรับเกมของคุณ คุณจะเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสิ่งใหม่เพิ่มเติมเข้ามาได้ตามที่คุณต้องการเพื่อให้เกมสนุกขึ้น ข้อความในเอกสารนี้ไม่สามารถครอบคลุมทุกสิ่งที่ผู้เล่นอาจจะอยากทำได้ มอนสเตอร์มีกลิ่นมั๊ย? กลิ่นเป็นยังไง? นี่ขึ้นอยู่กับคุณเลย หรือคุณจะถามผู้เล่นก็ได้ว่าเขาคิดว่ามันเป็นแบบไหน
ตัวละครที่ไม่ใช่ผู้เล่น (NPCs) เป็นเสียงของคุณ เมื่อผู้เล่นตัดสินใจว่าตัวละครของเขาจะทำอะไร DM จะเป็นผู้ควบคุมตัวละครอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้เล่นทั้งหมดในเกม ตัวละครที่ไม่ใช่ผู้เล่น (เรียกว่า NPC) เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมสำหรับ DM ที่จะช่วยให้ตัวละครเข้าใจเกมและเรื่องราวได้ และทำให้การเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นเรื่องราวทำได้ง่ายขึ้น
ให้มีหลายทางเลือก D&D เป็นเกมแห่งโลกจินตนาการ ที่ที่ฮีโร่ใช้ความเฉลียวฉลาด ทักษะ และความมุ่งมั่นในการก้าวข้ามผ่านอุปสรรค บางครั้งอุปสรรคเปล่านั้นก็ผ่านได้ด้วยอาวุธและมนต์คาถา แต่ตัวละครสามารถทำให้สำเร็จด้วยวิธีอื่นก็ได้ การสื่อสารกับมอนสเตอร์ หลอกล่อหรือทำให้กลัวจนหนีไป หรือเลี่ยงการต่อสู้โดยการแอบซ่อนไปก็ทำให้สนุกได้เหมือนกัน ตัวเลือกเหล่านี้สามารถทำได้หากผู้เล่นต้องการจะเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
ฟังผู้เล่นของคุณ ให้กระตุ้นผู้เล่นให้พูดคุยกับคุณทั้งแบบเปิดเผยและแบบเป็นส่วนตัว ถ้าบางอย่างในเกมทำให้พวกเขาไม่สบายใจ ก็ขอให้ตอบสนองอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น คุณสามารถเร่งบรรยายผ่านเรื่องราวที่ที่ทำให้ไม่สบายใจไปอย่างรวดเร็ว และรีบไปส่วนอื่นของเนื้อเรื่อง
แนะนำการผจญภัย
หากคุณเป็นผู้เล่น หยุดอ่านตรงนี้เลย! ส่วนที่เหลือของเอกสารนี้สำหรับ DM เท่านั้น
ในการผจญภัยนี้ ตัวละครจะพบกับมังกรแรกเกิดและต้องนำมันกลับไปหาแม่ของมันที่รัง แต่ว่ารังมังกรนี้ถูกโจมตีโดยศัตรู เมื่อเป็น DM คุณจะนำเสนอความท้าทายต่าง ๆ ให้ผู้เล่นได้เผชิญหน้าตลอดเส้นทางการนำมังกรน้อยกลับบ้าน
ข้อความที่ปรากฏในกล่องแบบนี้ หมายความว่าให้คุณอ่านออกเสียงให้ผู้เล่นฟัง คุณสามารถอ่านแบบคำต่อคำหรือจะอธิบายด้วยภาษาของคุณเองก็ได้
ในการเริ่มการผจญภัย แจกชีตตัวละครให้กับผู้เล่นทุกคน และอ่านข้อความนี้ให้ทุกคนฟัง:
วันนี้เราจะเล่นเกมดันเจียนแอนด์ดรากอนเกมสั้น ๆ กัน ชีตตัวละครนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวละครที่ทุกคนจะได้เล่น เลือกเล่นได้คนละตัวละคร
คุณสามารถให้ผู้เล่นเลือกตัวละครที่จะเล่น แต่ถ้าหากคุณมีเวลาจำกัดก็สามารถเลือกให้พวกเขาได้
เมื่อทุกคนได้รับชีตตัวละครเรียบร้อยแล้ว อ่านข้อความต่อไปนี้
เขียนชื่อของคุณลงไปในช่องว่างที่เขียนว่า “ชื่อผู้เล่น” (Player Name)
ตัวละครของคุณมีชื่ออยู่แล้วซึ่งจะใช้เลยหรือจะตั้งชื่อให้ใหม่ก็ได้ มีช่องว่างข้างล่างชื่อนั้นใส่ได้เลย อย่าลืมใส่ชื่อเล่นและคำสรรพนามด้วย
ชีตตัวละคนแต่ละตัวจะมีพื้นที่ “คำอธิบาย” (Description) เอาไว้ใส่ข้อมูลรูปร่าง บุคลิกลักษณะ และแนวความคิด เลือกจากตัวเลือกที่มีหรือเขียนขึ้นมาใหม่เลยก็ได้ คุณสามารถแสดงบทบาทตามลักษณะของตัวละครของคุณได้ตามคำอธิบาย
ให้คอยช่วยผู้เล่นในการกรอกข้อมูลในชีตตัวละครหากจำเป็น พยายามตอบคำถามที่ผู้เล่นถาม แต่บางคำถามก็สามารถรอไปตอบได้ในระหว่างการเล่นได้ ให้ผู้เล่นรู้ว่าพวกเขาจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อเรื่องราวดำเนินไป แต่คุณก็อาจจะต้องหยุดเกมบ้างเพื่อตอบคำถามต่าง ๆ:
เรามาดูส่วนอื่น ๆ ของชีตตัวละครกัน มีข้อมูลที่คุณทุกคนน่าจะต้องรู้ก่อนที่เราจะเริ่มเล่นกัน
เผ่าพันธุ์และคลาส ตัวละครแต่ละตัวใน D&D จะมีเผ่าพันธุ์และคลาสที่จะช่วยบอกว่าตัวละครทำอะไรได้ดีที่สุด ข้อมูลบางอย่างในชีตตัวละครก็ใช้เผ่าพันธุ์และคลาสเป็นตัวกำหนด
ระดับการป้องกัน (Armor Class) และฮิตพอยต์ (Hit Points) ตัวละครแต่ละตัวจะมีระดับการป้องกันหรืออาเมอร์คลาส (Armor Class: AC) และฮิตพอยต์ (Hit Points) ระดับการป้องกันจะเป็นตัวบอกว่าตัวละครจะถูกโจมตีได้ยากง่ายขนาดไหน ยิ่งค่า AC มาก ตัวละครก็ถูกโจมตีโดนได้ยาก ฮิตพอยต์เป็นตัวบอกว่าตัวละครรับความเสียหายได้มากสุดเท่าไร เมื่อตัวละครได้รับความเสียหาย ให้ลบออกจากค่าฮิตพอยต์ของตัวละคร ถ้าคนไหนเหลือ 0 ตัวละครนั้นหมดสติ (unconscious) คุณจะได้เรียนรู้ว่าจะฟื้นฟูฮิตพอยต์ยังไงภายในเกม
การโจมตี ตัวละครแต่ละตัวสามารถทำการโจมตีด้วยอาวุธระยะประชิดหรือระยะไกล หรือด้วยคาถาประชิดตัวหรือคาถาจากระยะไกลได้ “ระยะประชิดตัว” (Melee) หมายถึงเมื่อตัวละครอยู่ติดกับมอนสเตอร์แค่ช่วงเอื้อมถึง “ระยะไกล” (Ranged) หมายถึงการโจมตีที่ตัวละครอยู่ห่างจากมอนสเตอร์ ตัวเลขที่อยู่ถัดจากการโจมตีในชีตตัวละครจะนำไปเพิ่มค่าให้ค่าลูกเต๋า d20 ที่เราทอยโจมตีได้ ยิ่งค่าที่ได้สูงเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสโจมตีโดนมากขึ้น
ทักษะ ตัวละครแต่ละตัวสามารถใช้ทักษะที่อยู่ในรายการในชีตตัวละคร ตัวเลขที่อยู่ข้างชื่อทักษะจะนำมาเพิ่มให้ค่าลูกเต๋า d20 ที่เราทอยได้ ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าตัวละครเรามีความสามารถสูงในทักษะนั้น ถ้าตัวละครต้องการใช้ทักษะที่ไม่ได้มีอยู่ในชีต ผู้เล่นต้องทอย d20 แต่ไม่ได้ค่าโบนัสเพิ่มเติม
อุปกรณ์ ตัวละครจะมีอุปกรณ์ที่พวกเขาจะสามารถใช้ได้เพื่อผ่านอุปสรรคในการผจญภัย บางทีพวกเขาก็ค้นพบอุปกรณ์เพิ่มเติมได้ในระหว่างการเดินทาง
ความสามารถพิเศษ ตัวละครแต่ละตัวจะมีความสามารถพิเศษ ความสามารถนี้ทำให้เขาทำบางอย่างที่ตัวละครอื่นทำไม่ได้ คุณต้องเลือกว่าเมื่อไรถึงจะใช้ความสามารถพิเศษเหล่านั้น แต่ความสามารถก็มีจำนวนจำกัดหรือต้องใช้ในกรณีพิเศษเท่านั้น
อธิบายการทำงานของการทอย d20 ด้วยตัวอย่างนี้:
ตัวละคร นูรา เอลเดนฟิลด์ มีการโจมตีด้วยธนูสั้นที่บอกว่า “+5 to hit” เมื่อนูราทำการโจมตีด้วยธนูสั้น ผู้เล่นของนูราจะทอย d20 และเพิ่มค่าเข้าไปอีก 5 แล้วฉันจะบอกว่าการโจมตีนั้นโจมตีโดนมอนสเตอร์มั๊ย ถ้าโจมตีโดน ธนูสั้นของนูรายังระบุไว้อีกว่า “Damage 1d6 + 3” ผู้เล่นก็ต้องทอยลูกเต๋า 6 หน้าหนึ่งครั้งและเพิ่มค่าเข้าไป 3 เพื่อที่จะหาค่าความเสียหายที่มอนสเตอร์จะได้รับ
“ชีตอ้างอิงสำหรับผู้เล่น” ก็มีระบุรายละเอียดของคำศัพท์ที่มีอยู่ในชีตตัวละคร
เอาหละ ไปเล่นเกมกันเถอะ!
เริ่มการผจญภัย
เวลาที่คาดว่าจะใช้ในส่วนนี้: 10 นาที
เมื่อคุณและผู้เล่นพร้อมที่จะเริ่มการผจญภัยแล้ว ให้อ่านข้อความนี้
พวกคุณมาจากหมู่บ้านไพน์บรูก หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้กับเชิงเขาที่เรียกกันว่ากระดูกสันหลังโลก (Spine of the World) นอกเหนือจากงานประจำที่ทำกันเป็นปกติแล้ว สมาชิกในชุมชนไพน์บรูกก็จะสลับกันมาเดินลาดตระเวณตามแนวป่าและเนินเขารอบ ๆ หมู่บ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยสำหรับคนตัดไม้ที่ทำงานอยู่ในป่า และคนงานเหมืองที่ขุดหาแร่เหล็กอยู่ในหุบเขา และวันนี้ เป็นตาของพวกคุณที่จะออกลาดตระเวณหมู่บ้าน
บางครั้งก็มีสัตว์ร้ายเพ่นพ่านอยู่ในป่า แต่ช่วงนี้มันดูเงียบสงบ มีข่าวลือแพร่ไปทั่วบริเวณว่ามีมังกรเงินผู้เป็นมิตรมาอาศัยทำรังอยู่บริเวณภูเขาใกล้ ๆ นี้ สิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตรายร้ายกาจของภูเขาบริเวณนี้โดยเฉพาะพวกโทรลน้ำแข็งสุดอันตราย ก็ไม่มีใครพบเจอมากว่าสองเดือนแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ หน่วยลาดตระเวณก็พบกับรอยเท้าโทรลในป่า หรือว่าข่าวลือเรื่องมังกรเงินผู้เป็นมิตรจะเป็นแค่ข่าวลือกันนะ? การลาดตระเวณของคุณในวันนี้จะนำโดยตัวหน้ายามหมู่บ้าน กัปตันเอ็มมาจีน โคล์ กัปตันโคล์ยืนมองออกไปทางแนวทางเดินเข้าป่าก่อนที่เธอจะหันมาพยักหน้าให้กับกลุ่มของคุณ
“ข้าไม่เคยออกลาดตระเวณกับพวกท่านมาก่อนเลย แนะนำตัวกันหน่อยมั๊ย”
ขอให้ผู้เล่นแต่ละคนแนะนำตัว บอกชื่อจริง ชื่อเล่นและลักษณะของแต่ละคน พวกเขาอาจจะอธิบายถึงอุปกรณ์ที่ติดตัวมาที่คนอื่นจะมองเห็นได้ด้วย อธิบายทักษะและการโจมตีที่ใช้ได้ และอาจจะอธิบายถึงบุคลิกลักษณะของตัวละครโดยสามารถเอาข้อมูลจากชีตตัวละครมาใช้ได้
การสวมบทบาท
D&D อนุญาตให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครของพวกเขาได้ ผู้เล่นอาจจะใช้เสียงที่แตกต่างหรือเคลื่อนไหวอย่างที่ตัวละครเป็น แต่ถ้าผู้เล่นไม่สะดวกจะสวมบทบาทแบบนั้น พวกเขาก็สามาถอธิบายตัวละครเหมือนกับการอ่านจากหนังสือก็ได้
มันเป็นเรื่องปกติมากที่ผู้เล่นบางคนจะลังเลที่จะพูดหรือมีปัญหากับการสวมบทบาท มันสำคัญที่ต้องให้ผู้เล่นรู้สึกผ่อนคลายสบายใจมากกว่าจะบังคับให้เขาพูด ในการช่วยให้เขารู้สึกผ่อนคลายในการสวมบทบาท ลองถามคำถามเหล่านี้หนึ่งหรือสองคำถาม:
- ตัวละครของคุณชื่ออะไร หรือชื่อเล่นอะไร?
- ลักษณะของตัวละครคุณเป็นยังไง?
- ตัวละครมีเสียงแบบไหนเวลาพูด?
- อะไรที่ตัวละครถนัดและทำได้ดี?
- ตัวละครพกอะไรมาด้วยในการออกลาดตระเวณป่าครั้งนี้?
- ตัวละครรู้สึกยังไงกับกับการออกไปลาดตระเวณนี้ หลังจากที่มีหลักฐานว่ามีโทรลน้ำแข็งอยู่แถวนี้?
เมื่อทุกคนได้แนะนำตัวเองแล้ว กัปตันโคล์ก็พูดว่า:
“เอาหละ ยังไงป่านี้ก็ต้องถูกลาดตระเวณหละนะ เพราะงั้นเราไปกันเลยเถอะ ข้าพร้อมจะสู้แล้วถ้าเราต้องเจอกับอะไร”
ให้ผู้เล่นได้ตอบสนองตามบทบาทของพวกเขาถ้าเขาอยากทำ ต่อไป อธิบายถึงการเดินทางที่ระมัดระวังของกัปตันโคล์ที่มุ่งหน้าเข้าป่า รวมถึงลักษณะการเดินทางของกลุ่มผู้เล่นด้วย
เข้าสู่การเผชิญหน้าที่ 1: มังกรที่ (ไม่ค่อย) น่าหวาดหวั่น
การเผชิญหน้าที่ 1: มังกรที่ (ไม่ค่อย) น่าหวาดหวั่น
เวลาที่คาดว่าจะใช้ในส่วนนี้: 10 นาที
หลังจากที่ตัวละครเดินตามกัปตันโคล์เข้ามาในป่า ให้อ่านข้อความดังนี้:
พวกคุณเดินตามทางเข้าป่ามาราว 15 นาทีก่อนที่กัปตันโคล์จะหยุดและยกมือให้สัญญาณ เธอถามพวกคุณว่า “ได้ยินเสียงอะไรมั๊ย?”
ตอนนี้คุณต้องทอยทดสอบทักษะการรับรู้ (Perception check) เพื่อดูว่าคุณได้ยินเสียงที่กัปตันโคล์ได้ยินหรือไม่ “ทักษะการรับรู้” (เพอร์เซ็พชัน - Perception) มีอยู่ในรายการในชีตตัวละครของคุณ ในหัวข้อ “ทักษะ” (Skills) พวกคุณแต่ละคนต้องทอยลูกเต๋า 20 หน้าและเอาเลขที่อยู่ข้างทักษะการรับรู้ที่อยู่ในชีตตัวละครมาบวกเพิ่ม และบอกมาว่าได้กันคนละเท่าไร
การทอยทดสอบทักษะการรับรู้ (Perception Checks)
ผู้เล่นจะทอย d20 หนึ่งครั้งและเพิ่มค่าโมดิไฟเออร์ที่เขียนไว้ข้างทักษะการรับรู้ (Perception skill) ในชีตตัวละครเพื่อทำการทดสอบทักษะการรับรู้ ระดับความยาก (DC) ในการทดสอบจะเป็น 10 (เขียนว่า DC 10) ฉะนั้นหากใครก็ตามทอยทดสอบทักษะการรับรู้ได้ 10 หรือมากกว่า ให้คุณอธิบายถึงสิ่งที่พวกเขาได้ยิน เป็นเสียงแซก ๆ ดังมาจากพุ่มไม้หนามตรงข้างทาง
ถ้าไม่มีตัวละครใดทอยทดสอบผ่านเลย กัปตันโคล์จะชี้ไปที่ต้นกำเนิดเสียง อ่านต่อจากนี้:
พุ่มไม้ที่อยู่ขอบทางขยับไปมาพร้อมกับสิ่งมีชีวิตหนึ่งโผล่ออกมา มันมีขนาดเท่าหมาตัวใหญ่ คลานออกมาจากพุ่มไม้หนามใบหนา เมื่อแรกเห็น สิ่งมีชีวิตนั้นดูเหมือนสัตว์เลื้อยคลานที่ทำจากโลหะ แต่เมื่อดูดี ๆ คุณเห็นเป็นมังกรตัวเล็กมีเกล็ดสีน้ำเงินเทาและมีลิ้นยาว
เมื่อมังกรน้อยคลานเข้ามาทางที่พวกคุณอยู่ มันก็พยายามงับเอาเปลือกไข่สีเงินที่ติดหัวและหน้าของมันออก มันทำเสียงหงุดหงิดเพราะเอาเปลือกไข่ออกไม่ได้
ถามผู้เล่นว่าจะทำอะไรต่อ ให้พวกเขาได้เล่นเป็นตัวละครของพวกเขาที่มีปฏิกิริยากับเหตุการณ์ พูดคุย พิจารณา และตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ตราบใดที่ตัวละครไม่พยายามทำร้ายลูกมังกร กัปตันโคล์ก็แค่ยืนดูอย่างงง ๆ ไม่แน่ใจว่าจะทำยังไงดี
การสวมบทบาทและข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้เล่นอาจจะถามคำถามในช่วยที่กำลังผจญภัย ในการให้ข้อมูลกับผู้เล่นอย่างเหมาะสม พยายามแบ่งคำตอบออกเป็นสามกลุ่มดังนี้:
ข้อมูลที่ตัวละครรู้ ถ้าผู้เล่นถามเกี่ยวกับข้อมูลที่ตัวละครของพวกเขาน่าจะรู้ คุณสามารถบอกพวกเขาได้เลย ตัวอย่างเช่นตัวละครจะรับรู้ถึงสิ่งที่พวกเขาเห็น ได้ยินและได้กลิ่นเสมอ
ข้อมูลที่ตัวละครอาจจะรู้ ผู้เล่นอาจจะได้เรียนรู้ข้อมูลจากทักษะของตัวละคร ตัวอย่างเช่น เชลไฟร์หรือกาแลนไทน์อาจจะถามว่านี่คือลูกมังกรเงินใช่หรือไม่ ในฐานะ DM คุณสามารถขอให้ผู้เล่นทอยทดสอบทักษะที่เกี่ยวข้องด้วย DC 10 เพื่อดูว่าพวกเขารู้คำตอบหรือไม่ เชลไฟร์อาจจะใช้ทักษะการจัดการสัตว์ (Animal Handling skill) ในขณะที่กาแลนไทน์อาจจะใช้ทักษะความรู้เรื่องธรรมชาติ (Nature skill) ถ้าพวกเขาทอยทดสอบผ่าน (d20 + ค่าโมดิไฟเออร์ของทักษะ ได้ค่า 10 หรือมากกว่า) คุณสามารถบอกพวกเขาได้ว่า “ใช่แล้ว นี่คือลูกมังกรเงินแรกเกิดเลย” คุณอาจจะบอกเพิ่มเติมด้วยว่ามันมักจะกินเนื้อหรืออาหารอื่น ๆ ด้วย
ข้อมูลที่ตัวละครยังไม่รู้ คำถามอย่างเช่น “เจ้าลูกมังกรนี่มาจากไหนเนี่ย?” เป็นสิ่งที่ตัวละครไม่รู้ อย่างน้อยก็ยังไม่รู้ตอนนี้ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น คุณอาจจะตอบว่า “คุณก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่คุณสามารถลองพยายามหาคำตอบได้นะ”
ถ้าตัวละครทอยทดสอบไม่ผ่านหรือไม่ได้ถามคำถามที่เกี่ยวข้อง คุณสามารถให้กัปตันโคล์ให้ข้อมูลกับพวกเขาได้ เธอสามารถยืนยันได้ว่านี่คือลูกมังกรเงิน และเธอจะไม่ยอมให้ใครทำร้ายมันเป็นอันขาด
หลังจากที่ผู้เล่นถามคำถามทั้งหมดและแสดงบทบาทกับมังกรแล้ว อ่านข้อความต่อไปนี้:
กัปตันโคล์หยิบหนังสือออกมาจากกระเป๋า “คู่มือมังกรฉบับสมบูรณ์สุด ๆ” เธอพลิกไปหน้ากลางของหนังสือ “โอ๊! จริงด้วย นี่คือลูกมังกรแรกเกิด รังของแม่มันจะต้องอยู่บนเขาใกล้ ๆ นี่แน่ ๆ น่าจะเลยแนวป่านี้ไป อย่างที่ข่าวลือว่าจริง ๆ เราต้องรีบเอาลูกมังกรไปคืนแม่มันให้เร็วที่สุด ข้าไม่แน่ใจว่ามันออกมาไกลจากรังแค่ไหน”
กัปตันโคล์ออกอาการกังวลใจ และถอนหายใจ “ข้าต้องกลับไปไพน์บรูกก่อน ต้องกลับไปบอกทุกคนว่าเราเจออะไร ข้าอยากขอให้ทุกคนช่วยพาเจ้าลูกมังกรนี่ไปส่งให้แม่ของมันหน่อยจะได้มั๊ย ต้องปกป้องมันด้วยชีวิตเลยนะ ทางเดินนี่ยาวไปถึงภูเขาที่น่าจะมีรังมังกรอยู่ ตั้งชื่อให้มันและให้มันกินอะไรด้วยนะ มันดูอ่อนแออยู่”
เธอฉีกหน้าหนังสือออกแผ่นหนึ่งแล้วม้วนส่งมาให้ “เอ้านี่ นี่น่าจะมีประโยชน์ ตามข้อมูลในหนังสือแล้ว มังกรเงินเป็นพวกรักสงบและเป็นมิตรกับผู้คนนะ ถ้าเจอตัวก็อย่าเพิ่งทำอะไรบู่มบ่ามล่ะ”
หน้าหนังสือที่กัปตันโคล์ให้กับตัวละครนั้นจะอยู่ในภาคผนวก A มันมีคำแปลภาษาดราโกนิค เป็นภาษาของมังกร แปลเป็นภาษาคอมมอนที่ตัวละครทุกคนรู้ ตัวละครยังไม่ต้องอ่านตอนนี้ก็ได้ แต่ข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ในการผจญภัยแน่นอน
การดูแลและการให้อาหาร
หลังจากกัปตันโคล์จากไป ตัวละครควรจะพยายามหาอาหารให้มังกร คุณสามารถบอกพวกเขาได้ว่าตัวละครมีเสบียงติดตัวมาด้วยอยู่ในกล่อง “อุปกรณ์อื่น ๆ” นอกจากนั้นเชลไฟร์สามารถทอยทดสอบทักษะการเอาตัวรอด (Survival check) DC 10 หรือกาแลนไทน์สามารถทอยทดสอบทักษะความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ (Nature check) DC 10 เพื่อหาลูกไม้และถั่วให้มังกรกิน เตือนให้ผู้เล่นทอย d20 ถ้าจำเป็น
หลังจากที่มังกรได้รับอาหาร มันจะพูดออกมาหนึ่งคือ “นีธา” ตัวละครจะยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร แต่มันคือคำว่า “แม่จ๋า” ในภาษาดราโกนิค
เมื่อมังกรกินอาหารอิ่มแล้ว มันจะเคลื่อนไหวและเดินตามตัวละครไป พวกเขาอาจจะอุ้มมังกรก็ได้ เจ้ามังกรยังชอบให้เกาพุงด้วย
เดินทางกันต่อไปเลย
ภูเขาที่กัปตันโคล์บอกไปให้ถึงนั้นโผล่ยอดอยู่เหนือแนวไม้
เมื่อผู้เล่นพร้อมแล้ว ให้ไปต่อที่การเผชิญหน้าที่ 2: น้ำแข็งมีชีวิต
การเผชิญหน้าที่ 2: น้ำแข็งมีชีวิต
เวลาที่คาดว่าจะใช้ในส่วนนี้: 10 นาที
บอกกับผู้เล่นว่าป่ารอบด้านที่กำลังเดินผ่านมานั้นเงียบสนิท ทางเดินมองเห็นได้ชัดเจนซึ่งมันนำพวกเขาไปทางภูเขา และไม่มีสัตว์ร้ายใด ๆ มารบกวน
เมื่อตัวละครมาถึงเชิงเขา อ่านข้อความดังนี้:
จากที่เดินทางอย่างระมัดระวังตามทางที่ถูกต้อง พวกคุณมาถึงเชิงเขา คุณสังเกตุเห็นถ้ำเปิดอยู่ข้างหน้าไม่ไกล ถ้ามังกรจะสร้างรังบนภูเขานี่ก็น่าจะเป็นทางเข้าอย่างแน่นอน
ถ้ำนี้ดูจะเป็นทางเข้าทางเดียวที่น่าจะนำไปสู่รังมังกรได้ เมื่อลูกมังกรเข้าใกล้ปากถ้ำ มันทำท่าดมกลิ่นในอากาศและพยายามเข้าไปใกล้ ๆ ดูเหมือนมันได้กลิ่นของบ้าน
เมื่อตัวละครเดินทางเข้าใกล้ถ้ำ อ่านข้อความดังนี้:
ทางเข้าถ้ำมีลักษณะกว้างและมีแสงส่องเข้าไปถึง แต่เข้าไปด้านในสักระยะหนึ่งก็มืดสนิท มองไม่เห็นว่ามีอะไรข้างใน มีแท่งน้ำแข็งตกอยู่เกลื่อนไปทั่ว ที่พื้นมีแผ่นน้ำแข็งแตกกระจายอยู่ทั่วบริเวณ
ทันใดนั้นเอง แท่งน้ำแข็งก็ขยับไปมา มันเคลื่อนที่ไปรวมกับหิมะและก่อตัวขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแขนและกรงเล็บน้ำแข็งดูน่ากลัว มีตัวนึงร้องออกมาว่า “ผู้บุกรุก ฆ่ามัน!” ขณะที่พวกมันเคลื่อนที่เข้ามาโจมตี
มอนสเตอร์น้ำแข็งมีชีวิต 5 ตัวอาศัยอยู่ตรงทางเข้าถ้ำ ถ้าคุณมีสมาชิกนักผจญภัยน้อยกว่านี้ให้ลดจำนวนมอนสเตอร์น้ำแข็งลงเท่ากับจำนวนคนที่หายไป อย่างน้อยที่สุดจะต้องมี 2 ตัว ใช้ข้อมูลด้านล่างในการเล่นมอนสเตอร์น้ำแข็งในการต่อสู้
น้ำแข็งมีชีวิต (Living Icicle)
ระดับการป้องกัน (AC) 10
ฮิตพอยต์ (Hit Points) 7
แอ็คชัน
กรงเล็บ. การโจมตีด้วยอาวุธประชิดตัว: +2 ให้การทอยโจมตี. ความเสียหาย: 1d6 ความเสียหายแบบเฉือน (slashing damage).
อ่านข้อความด้านล่างนี้เพื่อให้ผู้เล่นเตรียมตัวในการต่อสู้ครั้งแรก:
ทุกคนเตรียมพร้อมสำหรับศึกแรก! ดูที่ช่อง “การโจมตี” (Attacks) ในชีตตัวละครของคุณ ถ้าคุณต้องการจะโจมตีประชิดตัว ตัวละครของคุณต้องเคลื่อนที่เข้าประชิดตัวกับศัตรูก่อน ถ้าคุณต้องการจะโจมตีจากระยะไกล คุณสามารถยืนอยู่ด้านหลังได้
ทอยลูกเต๋า 20 หน้าและบวกค่าโมดิไฟเออร์ของการโจมตีที่คุณใช้ บอกค่าที่ได้มาและฉันจะบอกคุณว่าโจมตีโดนหรือไม่ ถ้าคุณโจมตีโดน ทอยลูกเต๋า 6 หน้าและเพิ่มค่าโมดิไฟเออร์ความเสียหายที่ระบุไว้เข้าไป และบอกจำนวนรวมมา
การจัดลำดับเทิร์น
อย่างแรก อธิบายว่ามอนสเตอร์นี้ดุร้ายยังไงและอันตรายขนาดไหน เน้นไปที่กรงเล็บที่แหลมคม และพยายามให้ผู้เล่นรู้สึกว่าเป็นการต่อสู้ที่ถึงเป็นถึงตาย ถ้ามอนสเตอร์โจมตีสำเร็จสักครั้งสองครั้งนั่นจะช่วยให้เห็นว่ามันอันตรายแค่ไหน ให้ตัวละครโจมตีก่อนโดยเริ่มจากคนที่อยู่ทางซ้ายก่อนและวนตามเข็มนาฬิกาไป ถามผู้เล่นแต่ละคนว่าเขาอยากทำอะไร พยายามให้ผู้เล่นอธิบายถึงแอ็คชันที่ทำเพื่อให้ทุกคนสามารถจินตนาการได้ว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างไร
หลังจากผู้เล่นทุกคนเล่นแล้ว ให้น้ำแข็งมีชีวิตที่เหลืออยู่โจมตีบ้าง มอนสเตอร์แต่ละตัวเดินไปหาตัวละครที่ต่างกันและโจมตีด้วยกรงเล็บ
ทอย d20 และเพิ่มค่าโมดิไฟเออร์การโจมตี (+2) ถ้าค่าที่ได้เท่ากับหรือมากกว่าค่าระดับการป้องกัน (Armor Class: AC) ของตัวละครแสดงว่าโจมตีโดน ทอย 1d6 และบอกให้ผู้เล่นลดฮิตพอยต์ลงตามจำนวน ถ้าทอยโจมตีแล้วพลาด ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งโจมตีโดนและไม่โดนก็ขอให้บรรยายการโจมตีให้เห็นภาพ กรงเล็บนั้นทำให้เกิดบาดแผลหรือติดเกราะทำให้การโจมตีไม่เป็นผลใด ๆ
ผลัดกันรุกรับตามลำดับไปเรื่อย ๆ จนน้ำแข็งมีชีวิตถูกกำจัดจนหมด คุณสามารถอธิบายลักษณะว่าน้ำแข็งแตกกระจายหรือละลายสลายไปเมื่อมันถูกกำจัดได้ หรือบางทีมอนสเตอร์น้ำแข็งก็หนีไปเมื่อกำลังจะแพ้ บอกผู้เล่นว่าพวกเขาไม่สามารถตามจับน้ำแข็งมีชีวิตได้ อาจจะเล่าว่าพวกมันลอดช่องแคบของภูเขาหนีไปซึ่งตัวละครตามเข้าไปไม่ได้
ทิปสำหรับ DM การรันการต่อสู้ใน D&D เหมือนกับการเล่นเครื่องเล่นที่ตื่นเต้นในสวนสนุก: ผู้เล่นมักจะต้องการความกลัวและความตื่นเต้น แต่พวกเขาก็ไม่อยากตื่นเต้นจนตัวละครตาย จุดนี้คุณสามารถใช้การเล่าเรื่องและเวทย์มนต์ของคณิตศาสตร์ช่วยได้
คุณสามารถแทรกแซงการต่อสู้ได้ถ้าดูแล้วตัวละครน่าจะแพ้แน่ ตัวอย่างเช่นคุณอาจจะให้ตัวละครทอยแบบได้เปรียบหรือให้มอนสเตอร์ทอยแบบเสียเปรียบในการทอยโจมตี ดู “การใช้กฏ” สำหรับรายละเอียดเรื่องการทอยแบบได้เปรียบและเสียเปรียบ การเปลี่ยนความน่าจะเป็นแบบนี้ก็ช่วยให้ตัวละครมีโอกาสชนะได้มากกว่า
แทนที่จะให้มอนสเตอร์ตัวหนึ่งโจมตีผู้เล่นคนเดียวจนร่วงไป ก็เปลี่ยนให้ไปโจมตีคนอื่นบ้าง แทคติกนี้จะทำให้ตัวละครสู้ได้นานขึ้น
คุณสามารถเล่าได้ว่าลูกมังกรก็เข้ามาช่วยโจมตีศัตรูได้ แต่ก็ควรจะเลี่ยงการใช้ความช่วยเหลือจากภายนอกให้มากที่สุดจะดีกว่า
หลังจากชนะศึก
เมื่อชนะพวกน้ำแข็งมีชีวิตแล้ว ถามผู้เล่นว่าต้องการทำอะไรต่อ ถ้าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ แนะนำให้ลองสำรวจพื้นที่รอบ ๆ ดู
สำรวจพื้นที่รอบ ๆ
มอนสเตอร์บางตัวพกสมบัติของมาค่ามาด้วย ดังนั้นการลองค้นหาสำรวจตามตัวมอนสเตอร์อาจจะพบสมบัติซ่อนอยู่ ถ้าสมบัติไม่ได้ถูกซ่อนไว้อย่างตั้งใจก็ไม่จำเป็นต้องให้ทอยทดสอบอะไร
ถัดจากจุดต่อสู้เข้ามาเล็กน้อย ตัวละครจะเจอกระเป๋าหนังตกอยู่ ข้างในมีไอเท็มดังนี้: เนื้อแห้ง 1 แพ็ค, คบไฟ 5 อัน, กลักไฟสำหรับจุดไฟ และกระเป๋าเงินมีเหรียญทอง 12 ชิ้น
การแบ่งสมบัติ
ให้ผู้เล่นแบ่งของกันเองตามตกลง ถ้าพวกเขาเริ่มจะทะเลาะกัน ให้ใช้ลูกมังกรทำให้พวกเขาใจเย็นลง ลูกมังกรจะร้องไห้หวาดกลัวถ้าตัวละครทะเลาะกัน
การรักษาและฟื้นฟูผู้บาดเจ็บ
ถ้าตัวละครได้รับบาดเจ็บจากน้ำแข็งมีชีวิต ทางที่ดีที่สุดคือให้อีวานดอนใช้ความสามารถพิเศษในการใช้คาถารักษาเรียกว่า “คาถารักษาบาดแผล” (Cure Wounds) เชลไฟร์ก็มีความสามารถพิเศษที่จะรักษาบาดแผลของตัวเองได้ แต่ก็จะใช้ได้แค่ครั้งเดียวในการผจญภัยนี้ (กฏแบบเต็มของ D&D จะมีหลากหลายวิธีในการรักษาฟื้นฟู แต่ในการผจญภัยนี้จะต้องอาศัยคาถาของอีวานดอน ความสามารถพิเศษของเชลไฟร์ และโอกาสในการฟื้นฟูในช่วงท้ายเกม)
เราเพิ่งจะสู้กับอะไรไปน่ะ?
น้ำแข็งมีชีวิตเป็นสิ่งมีชีวิตเวทย์มนต์ที่พวกโทรลน้ำแข็งสร้างขึ้นเพื่อเอาไว้เป็นยามเฝ้ารัง ตัวละครที่ทอยทดสอบทักษะด้านตำนาน (Arcana) หรือทักษะความรู้ประวัติศาสตร์ (History) DC 10 จะสามารถรู้เรื่องนี้ได้และสามารถเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังได้
ไปกันต่อเลยมั๊ย?
ลูกมังกรพยายามจะวิ่งเข้าไปในถ้ำ เมื่อตัวละครพร้อมแล้ว เดินทางต่อไปที่การเผชิญหน้าที่ 3: รังอันตราย
การเผชิญหน้าที่ 3: รังอันตราย
เวลาที่คาดว่าจะใช้ในส่วนนี้: 15 นาที
หลังจากเอาชนะน้ำแข็งมีชีวิตได้แล้วและมุ่งหน้าเข้าในถ้ำ ตัวละครต้องรวบรวมความกล้าเผชิญกับอันตรายที่อาจจะมีในถ้ำที่จะนำไปสู่รังมังกรนี้ เมื่อตัวละครเข้ามาในถ้ำแล้ว อ่านข้อความต่อไปนี้:
ด้านหน้าของถ้ำมีแสงส่องถึง แต่เมื่อเข้ามาด้านในก็มืดลง ผนังของถ้ำมีรอยขีดเขียนหยาบ ๆ ด้วยชอล์ค เป็นรูปสิ่งมีชีวิตดูเหมือนโทรลกำลังเต้นรำและทำงาน
ขอให้ผู้เล่นทอยทดสอบทักษะประวัติศาสตร์ (History) หรือทักษะความรู้ทางศาสนา (Religion) DC 10 แม้ว่าอีวานดอนจะเป็นตัวละครเดียวที่มีโบนัสในทักษะทางศาสนา และกาแลนไทน์เป็นตัวละครเดียวที่มีโบนัสในทักษะประวัติศาสตร์ ตัวละครอื่นก็ยังสามารถจะลองทอยทดสอบได้ ผู้เล่นก็แค่ไม่ต้องเพิ่มค่าโบนัสใด ๆ เข้าไป ใช้ค่าที่ได้จาก d20 อย่างเดียว
ถ้าตัวละครคนใดทอยทดสอบผ่าน ให้เล่าเรื่องของโทรลน้ำแข็งที่เคยอาศัยและทำงานกันอยู่ในถ้ำแห่งนี้
และแม้ว่าจะไม่มีใครทอยทดสอบผ่านเลย ก็อ่านข้อความต่อไปนี้:
ลูกมังกรดูจะตื่นเต้นมากเมื่อได้เข้ามาในถ้ำแล้ว เหมือนว่ามันรู้ว่าทางนี้จะไปถึงบ้านของมันได้ ด้านในสุดของถ้ำที่มองเห็นได้ลาง ๆ นั้นเป็นทางเดินที่กลายเป็นช่องและชันขึ้นไปบริเวณกลางภูเขา
เพราะภายในถ้ำนั้นมืดจนมองแทบไม่เห็น ตัวละครจึงต้องใช้คบไฟที่เจอในกระเป๋าหน้าหน้าถ้ำเพื่อจุดให้แสดงสว่างและออกเดินทางเข้าไป หินเหล็กไฟและแท่งเหล็กในกระเป๋าสามารถนำมาใช้จุดคบไฟได้
การไปถึงรัง
ตัวละครต้องผ่านความท้าทาย 3 อย่างให้ได้เพื่อให้ไปถึงถ้ำที่เป็นรังของมังกรเงิน แต่ละความท้าทายสามารถผ่านได้หลายวิธี ทั้งใช้ทักษะ ใช้อุปกรณ์ หรือโจมตี
คำอธิบายโจทย์จะแนะนำวิธีการที่น่าจะเป็นไปได้ให้ตัวละครได้ผ่านแต่ละความท้าทาย อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้เล่นมีวิธีอื่นที่อาจจะใช้ได้ ให้พวกเขาลองทอย d20 เพื่อทดสอบไอเดียนั้น จินตนาการมักจะนำไปสู่เรื่องราวที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ
ความท้าทายที่ 1: ไต่หน้าผาน้ำแข็ง
เมื่อตัวละครเดินทางมาถึงทางเดิน อ่านข้อความต่อไปนี้:
ทางเดินที่มีน้ำแข็งเกาะที่หนาวเย็นสอบแคบลงเป็นอุโมงค์นำพาคุณมาถึงกำแพงสูงที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ด้านบนกำแพงสูงขึ้นไป 50 ฟุต คุณต้องไต่ผนังขึ้นไปเพื่อจะเดินทางต่อเข้าไปในภูเขา
ตัวละครต้องทอยทดสอบทักษะการกรีฑา (Athletics) DC 10 เพื่อไต่หน้าผาให้ได้สำเร็จ ถ้าตัวละครทอยไม่ผ่าน ให้ทอย 1d6 และบอกผู้เล่นว่าได้รับความเสียหายจากการตกลงมา และให้ลบค่านี้จากฮิตพอยต์ ก่อนที่ตัวละครจะปีนต่อไปได้สำเร็จ
นูรามีอุปกรณ์ปีนเขาในชีตตัวละครของเธอ (อยู่ในช่อง “อุปกรณ์อื่น ๆ”) นั่นทำให้เธอได้ทอยทดสอบแบบได้เปรียบ ถ้าตัวละครที่ปีนไปถึงด้านบนมีเชือก สามารถหย่อนลงมาให้เพื่อนใช้ปีนได้ และคนที่ใช้เชือกปีนขึ้นไปจะไม่ต้องทอยทดสอบการปีน
ขึ้นมาด้านบนก็พบทางเดินต่อไปเป็นทางชันขึ้นไปด้านบน
ทิปสำหรับ DM ถ้าตัวละครอุ้มลูกมังกรไว้และตกลงมาระหว่างการปีน มังกรจะไม่ได้รับความเสียหาย คุณสามารถให้รางวัลกับตัวละครที่ปกป้องลูกมังกรโดยให้เขาได้ทอยแบบได้เปรียบในการทอยบางอย่างได้
ความท้าทายที่ 2: กระจกน้ำแข็งเวทย์มนต์
เมื่อตัวละครเดินทางต่อมา อ่านข้อความดังนี้:
ทางเดินคดเคี้ยวที่ลาดชันขึ้นไปนั้นถูกขวางด้วยแผ่นน้ำแข็งบางใส เมื่อมองผ่านแผ่นน้ำแข็งไปคุณมองเห็นทางที่จะไปต่อได้ และเมื่อแสงไฟตกกระทบ แผ่นน้ำแข็งก็กลายเป็นกระจกสะท้อนภาพได้ พื้นผิวของมันเป็นประกายแปลกประหลาด ในเงาสะท้อนนั้น คุณและเพื่อนมองเห็นเป็นมังกรเงินและลูกมังกรเป็นเด็กน้อยที่มีผิวเป็นสีเงิน
ให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทและตอบสนองกับการค้นพบอันแปลกประหลาดนี้ แล้วจึงดำเนินเกมต่อ:
ทันใดนั้นก็มีภาพหัวมังกรขนาดใหญ่สีทองคำขาว (แพลตินัม) ปรากฏขึ้นในแผ่นน้ำแข็งและพูดขึ้น คุณเข้าใจคำที่มังกรพูดกับพวกคุณแม้ว่ามันจะไม่ได้พูดในภาษาที่คุณรู้จัก
“พวกเจ้ากำลังปฏิบัติภาระกิจอันศักดิ์สิทธิ์ แต่พวกเจ้าต้องเอ่ยคำที่ถูกต้องในภาษาที่ถูกต้องเพื่อจะผ่านเข้าสู่รังของหนึ่งในลูกหลานของข้า คำตอบสองคำที่ถูกต้องสำหรับคำถามนี้: สิ่งมีชีวิตใดที่พวกเจ้ากำลังนำส่งบ้าน?”
ให้ผู้เล่นทอยทดสอบทักษะด้านตำนาน (Arcana), ประวัติศาสตร์ (History), หรือความรู้ทางศาสนา (Religion) DC 10 ถ้าตัวละครทอยสำเร็จ บอกพวกเขาว่ารูปลักษณ์ที่อยู่ในน้ำแข็งนั้นคือ “บาฮามุท” เทพเจ้าแห่งมังกรสีโลหะ (ทองเหลือง, ทองสัมฤทธิ์, ทองแดง, ทอง, และเงิน)
คำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามนี้คือ “มังกรเงิน” (silver dragon) อย่างไรก็ดี ตัวละครต้องพูดคำตอบนี้ในภาษาดราโกนิค (Draconic) พวกเขาสามารถใช้หน้าหนังสือที่กัปตันโคล์ให้ไว้เพื่อหาคำอ่านที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือ “ออน ดาราสตริกซ์” (orn darastrix)
ถ้าผู้เล่นต้องการความช่วยเหลือในการตอบคำถาม หรือพวกเขาได้คำตอบมาเพียงบางส่วน ภาพสะท้อนบาฮามุทสามารถให้คำใบ้ได้เช่น “เจ้าตอบถูกหนึ่งคำแล้ว แต่ยังต้องมีอีกคำ”
If any character speaks the correct words, read the following: ถ้าตัวละครพูดคำที่ถูกต้องแล้ว อ่านข้อความต่อไปนี้:
กระจกน้ำแข็งก็ละลายอย่างรวดเร็ว มีน้ำเย็นจัดสาดโดนพวกคุณทุกคน แต่แทนที่จะหนาวเพราะความเย็น น้ำนั้นแทรกเข้าไปในตัว ในเสื้อผ้าและเกราะ ทำให้พวกคุณรู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที
บาฮามุทได้ปลุกเสกน้ำนี้ บอกกับผู้เล่นทุกคนว่าพวกเขาได้รับการฟื้นฟูจนเลือดเต็มจากน้ำเวทย์มนต์นี้ ให้ทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บปรับค่าฮิตพอยต์ให้เต็ม
นอกจากนี้ ตัวละครทุกคนจะได้ทอยแบบได้เปรียบในครั้งแรกที่ต้องทอยต่อจากนี้ ซึ่งก็คือในความท้าทายต่อไป (สไลเดอร์น้ำแข็ง)
ตัวละครอาจจะใช้วิธีอื่นในการผ่านกระจกน้ำแข็ง เช่นละลายน้ำแข็งด้วยคบไฟหรือทุบด้วยอาวุธ ถ้าพวกเขาทำแบบนั้นก็จะไม่ได้รับการฟื้นฟูจากบาฮามุท และตัวละครที่ทุบกระจกน้ำแข็งก็จะได้รับความเสียหาย 1d6 ด้วยเพราะเศษน้ำแข็งแตกบาด
ทิปสำหรับ DM ถึงแม้ว่าผู้เล่นจะทอยลูกเต๋าได้ไม่ดีนัก ก็ขอให้อนุญาตให้พวกเขาเดินหน้าต่อไปในการผจญภัย ผลที่ตามมาจากการไม่ผ่านความท้าทายอาจจะเป็นการได้รับความเสียหาย ซึ่งจะยิ่งทำให้การต่อสู้สุดท้ายนั้นค่อนข้างยากมากขึ้น แต่คุณก็คงไม่ต้องการให้พวกเขาติดแหง็กเพราะเพียงแค่โชคร้ายหรอกนะ
ความท้าทายที่ 3: ผจญภัยกับสไลเดอร์น้ำแข็ง
อุโมงค์ตรงที่นำไปสู่ถ้าที่เป็นรังของมังกรเงินนั้นเป็นช่องสไลด์น้ำแข็งที่ทอดยาวลงไป บ้างก็ไปรวมกัน บ้างก็แยกจากกัน บ้างก็เป็นทางตัดกัน อ่านข้อความต่อไปนี้:
ทางเดินนำพวกคุณสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป และตอนนี้พวกคุณยืนอยู่ด้านบนขอบผาน้ำแข็ง มองลงไปด้านล่างคุณเห็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่ในภูเขาอีกฟากหนึ่ง สไลเดอร์น้ำแข็งนี้มีฐานเป็นหินภูเขาและเคลือบด้วยน้ำแข็งหนา ดูจะเป็นทางเดียวที่จะลงไปถึงถ้ำด้านล่างได้ แต่มันชันและลื่นมาก ยิ่งไปกว่านั้น สไลเดอร์เหล่านี้ยังไปรวมกันบ้าง ตัดกันบ้าง บ้างก็วนไปวนมากลายเป็นสไลเดอร์วงกต บางเส้นทางก็ไปชนกับกำแพงน้ำแข็ง บางเส้นทางก็มีแท่งน้ำแข็งแหลมคม พวกคุณแต่ละคนต้องเลือกว่าจะไปเส้นทางไหนกัน
ทันใดนั้น คุณได้ยินเสียงน้ำแข็งแตก หน้าผาที่คุณกำลังยืนอยู่นั้นเริ่มจะถล่มซะแล้ว! ถ้าคุณไม่โดดตอนนี้คุณจะร่วงลงไปแน่
ตัวละครแต่ละคนต้องกระโดดสไลด์ลงไป เมื่อเริ่มถไลลงไปแล้วจะหยุดไม่ได้ อย่างไรก็ตามพวกเขาสามารถเปลี่ยนเส้นทางได้หากเจอกับทางแยก
การหาเส้นทางที่ดีที่สุด ก่อนจะเริ่มสไลด์ลงไป ตัวละครสามารถเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดได้ ให้ผู้เล่นทอยทดสอบทักษะการตรวจสอบ (Investigation) หรือทักษะการรับรู้ (Perception) DC 10 เพื่อหาเส้นทางที่ดีที่สุด ถ้าตัวละครทอยผ่าน พวกเขาจะได้เส้นทางที่ดีที่สุดในการสไลด์ลงไปด้านล่าง ตัวละครจะไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ แต่คุณสามารถอธิบายความน่าตื่นเต้นของการสไลด์นั้นได้จนพวกเขาลงไปถึงด้านล่าง
การเปลี่ยนเส้นทาง ตัวละครที่ทอยทดสอบพลาดตอนก่อนโดดและสไลด์มาเจอกับจุดอันตราย เช่น แท่งน้ำแข็งคม จุดทางขาด กำแพงน้ำแข็ง และจุดอันตรายอื่น ๆ ตัวละครต้องทอยทดสอบทักษะทางกายกรรม (Acrobatics) หรือทักษะการกรีฑา (Athletics) DC 15 ให้ผ่านเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย ตัวละครที่ไม่มีทักษะสองอย่างนี้ในชีตตัวละครก็ยังสามารถทอยทดสอบได้ แต่จะไม่ได้รับโบนัสที่จะเอามาเพิ่มในการทอย d20 ถ้าตัวละครทอยไม่ผ่าน จะได้รับความเสียหาย 1d6 และสไลด์ลงไปด้านล่างอย่างทุลักทุเล
อธิบายแอ็คชัน เมื่อตัวละครสไลด์ลงมาอย่างอันตรายนั้น ให้จินตนาการถึงวิธีที่คุณหรือผู้เล่นจะอธิบายว่าตัวละครกระโดดจากทางหนึ่งไปอีกทางหนึ่งได้อย่างไร จะไปกับทางวนเวียน และเกือบจะเฉี่ยวกับเมื่อถึงทางแยก ให้โอกาสผู้เล่นได้อธิบายว่าตัวละครของพวกเขาสไลด์ลงมาอย่างไร
ทิปสำหรับ DM ถ้าตัวละครหนึ่งทอยทดสอบและได้ทางที่ปลอดภัยที่สุด คนอื่นอาจจะตามลงไปในทางเดียวกันก็ได้ ซึ่งจะทำให้ความท้าทายนี้มันง่ายลงมาก คุณสามารถเพิ่มความท้าทายเข้าไปโดยบอกว่าส่วนบนของสไลด์ที่ปลอดภัยนั้นถล่มลงไปทันทีที่ตัวละครสไลด์ลงไป คุณสามารถใช้มุกนี้ได้สำหรับแต่ละคนเพื่อให้เขาเลือกเส้นทางของตัวเอง
ไปกันต่อ
เดินจากจุดที่สไลด์ลงมาเล็กน้อย ตัวละครจะพบกับจุดฟักไข่ในถ้ำ ตัวละครจะต้องพร้อมสำหรับการต่อสู้ครั้งสุดท้าย การเผชิญหน้าครั้งที่ 4: ไข่มังกรและเจ้าเวหาสีเงิน
การเผชิญหน้าครั้งที่ 4: ไข่มังกรและเจ้าเวหาสีเงิน
เวลาที่คาดว่าจะใช้ในส่วนนี้: 15 นาที
เมื่อผู้เล่นเข้ามาในพื้นที่ฟักไข่ในถ้ำแล้ว อ่านข้อความต่อไปนี้:
ห้องโถงใหญ่ในถ้ำนี้มีหินงอกหินย้อยที่มีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ทั่วไป เพดานสูงไล่ระดับขึ้นไปจนถึงช่องด้านบนที่มีน้ำแข็งปิดอยู่ ที่พื้นตรงกลางโถง มีไข่สีเงินฟองใหญ่สองฟองตั้งอยู่บนพื้นหิมะ จุดที่สามมีเปลือกไข่แตกอยู่ และจุดที่สี่มีร่องรอยว่ามีไข่ตั้งอยู่แต่หายไป
ระหว่างคุณกับไข่มีตัวประหลาด 2 ตัวขนาดประมาณม้า พวกมันมีร่างกายเหมือนกบแต่ผิวหนังสีขายและมีฟันแหลมคมเต็มปาก
สิ่งมีชีวิตทั้งสองเคลื่อนที่ไปทางไข่ที่อยู่ในรังอย่างประสงค์ร้าย แต่พวกคุณก็ทำให้มันหยุด พวกมันหันมาทางพวกคุณและขู่แฟ่ และด้วยกำลังขาแข็งแรงพวกมันกระโดดเข้ามาประจันหน้ากับพวกคุณ
สิ่งมีชีวิตนี้คือตัวขโมยไข่ พวกมันถูกฝึกมาโดยพวกโทรลน้ำแข็งเพื่อมาขโมยไข่มังกร ถ้าตัวละครไม่เข้ามาขัดขวาง ไข่ที่เหลือทั้งสองฟองคงถูกพวกมันเอาไปแล้ว
ตัวขโมยไข่ (Egg Snatchers)
ระดับการป้องกัน (AC) 12
อิตพอยต์ 18
แอ็คชัน
กัด การโจมตีประชิดตัว: +4 ให้การทอยโจมตี ความเสียหาย: 1d6 + 2 ความเสียหายแบบแทง (piercing damage)
มันมีตัวขโมยไข่ 3 ตัวในการต่อสู้ ถ้าคุณมีผู้เล่น 3 คนหรือน้อยกว่า ให้เอามอนสเตอร์ออกไปตัวหนึ่ง ให้เหลือแค่ 2 ตัว ถ้ามีผู้เล่น 2 คนหรือแค่คนเดียว ให้ใช้มอนสเตอร์ 2 ตัวและลดฮิตพอยต์ของมอนสเตอร์ลงเหลือ 10
การต่อสู้นี้จะดำเนินไปเหมือนกับที่ต่อสู้กับน้ำแข็งมีชีวิต คอยบอกผู้เล่นถึงลำดับและวิธีการในการโจมตีทั้งแบบประชิดตัวและแบบระยะไกล
การเล่นไปตามเทิร์น
ให้ผู้เล่นโจมตีก่อน โดยเริ่มจากคนที่อยู่ทางซ้ายมือและวนไปตามเข็มนาฬิกา ให้ถามผู้เล่นแต่ละคนว่าเขาต้องการทำอะไร
หลังจากที่ผู้เล่นทุกคนเล่นในเทิร์นหมดแล้ว ให้ตัวขโมยไข่ที่ยังเหลืออยู่โจมตีบ้าง มอนสเตอร์แต่ละตัวที่ยังพอมีฮิตพอยต์เหลืออยู่ให้เดินเข้าประชิดตัวตัวละครที่ต่างกันไปและโจมตีด้วยการกัด
ทอย d20 และเพิ่มค่าโมดิไฟเออร์ (+4) ในการทอยโจมตี ถ้าได้ค่าเท่ากับหรือมากกว่าระดับป้องกันของตัวละคร (AC) แสดงว่าโจมตีโดน ถ้าพลาดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าผลเป็นแบบใดให้อธิบายการโจมตี เช่น ตัวขโมยไข่กัดเข้าที่น่องของตัวละคร หรือตัวขโมยไข่ฟันหักเพราะกัดเข้าที่เกราะ
บรรยายว่าตัวขโมยไข่ล้มลงกับพื้นเมื่อมันพ่ายแพ้อย่างไร หรือหนีไปในความมืดและมันรวดเร็วมากจนตัวละครไม่สามารถตามได้ทัน
ทิปสำหรับ DM ตัวละครที่ฮิตพอยต์เป็น 0 จะหมดสติ (unconcious) และนอนหมดสติอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะได้รับการเยียวยา เมื่อจบการต่อสู้ผู้เล่นที่หมดสติจะได้สติขึ้นมาและมีฮิตพอยต์เป็น 1 โดยอัตโนมัติ
หลังจากที่สู้ชนะ
เมื่อตัวขโมยไข่ถูกกำจัด ลูกมังกรจะคลานเข้าไปในรัง มานั่งอยู่ตรงเปลือกไข่แตกและล้มตัวลงนอนอย่างเหนื่อยอ่อน
เล่นกันต่อ
Before the characters can do anything else, the mother dragon returns! Read the following: ก่อนที่ตัวละครจะได้ทำอะไรต่อไป แม่มังกรก็กลับมา! อ่านข้อความต่อไปนี้:
เสียงกระแทกและน้ำแข็งแตกดังขึ้นด้านบนของโถงถ้ำ ก้อนน้ำแข็งและหิมะร่วงหล่นลงมารอบตัวคุณ พร้อมกับร่างของมังกรสีเงินขนาดใหญ่ที่พุ่งตัวลงมาจากเพดาน มังกรร่อนลงตรงหน้าคุณพร้อมกระทืบพื้นสั่นสะเทือนไปทั่ว ลมหายใจเย็นยะเยือกพ่นออกจากระหว่างฟันขาวคม
“นี่มันเกิดอะไรขึ้น?” มังกรคำรามเสียงดังก้อง
ตัวละครมีเรื่องต้องอธิบายแล้วหละ ดำเนินเกมไปยังบทสรุป
บทสรุป
เวลาที่คาดว่าจะใช้ในส่วนนี้: 10 นาที
มังกรเงินที่กำลังโกรธรอให้ตัวละครอธิบายเรื่องราวทั้งหมด นี่เป็นโอกาสที่ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครของตัวเอง
ระหว่างที่กำลังสนทนา คุณสามารถเปิดเผยชื่อของมังกรได้ เธอชื่อ “ฮิสเวียรอน” (เรียกสั้น ๆ ว่า “รอน”) “ข้อมูลมังกร” ด้านล่างจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับคุณเพื่อช่วยให้สวมบทบาทเป็นมังกรได้ดีขึ้น
ถ้าผู้เล่นลังเลที่จะพูด ให้ถามคำถามต่อไปนี้:
- “มังกรถามพวกคุณว่าพวกคุณมาทำอะไรที่นี่ คุณจะตอบว่ายังไง?”
- “ตัวละครรู้สึกยังไงบ้างเมื่อยืนอยู่ตรงหน้าของมังกรที่กำลังโกรธและมีขนาดเท่าบ้านเลย?”
- “คุณจะบอกอะไรกับมังกรเพื่อพิสูจน์ว่าคุณเอาลูกของมันมาส่งคืน?”
ตราบใดที่ตัวละครไม่ทำอะไรไร้สาระ รอนจะเริ่มเอะใจว่าพวกเขาไม่ได้มาขโมยไข่ของเธอ แต่เอาลูกมาคืนให้ต่างหาก
ทิปสำหรับ DM มังกรนั้นมีอำนาจมหาศาล ถ้าผู้เล่นตัดสินใจจะโจมตีรอน คุณสามารถจัดการสถานการณ์ได้ด้วยวิธีหลากหลาย
- มังกรมองมาที่พวกเขาด้วยความผิดหวังและบอกว่าหยุดทำอะไรไร้สาระได้แล้ว
- ขอให้ตัวละครทอยทดสอบทักษะทางธรรมชาติ (Nature) และบอกกับคนที่ได้ค่าสูงสุุดว่าตัวละครรู้ว่ามังกรนี้มีพลังมากและสามารถเอาชนะทกคนได้อย่างง่ายดาย
- ให้ตัวละครทำการโจมตีหรือใช้คาถาโจมตีถ้าเขาอยากทำ และบอกพวกเขาว่ามังกรไม่สนใจความพยายามนั้นเลย
- ถ้าตัวละครยังพยายามโจมตีมังกรหรือทำตัวหยาบคายต่อไป รอนจะใช้ลมหายใจเวทย์มนต์ของเธอทำให้ทกคนขยับตัวไม่ได้ และเธอจะเอาทุกคนออกไปนอกถ้ำและไ่ม่ได้รางวัลใด ๆ จากเธอ
ข้อมูลมังกร
นี่เป็นลักษณะบุุคลิกของมังกรเงิน คุณสามารถใช้ในการสวมบทบาทเป็นเธอได้:
- ฮิสเวียรอนเป็นมังกรเงินโตเต็มวัย (adult silver dragon) ชื่อของเธอแปลว่า “เจ้าเวหาสีเงิน”
- เธอบอกกับตัวละครให้เรียกเธอว่า รอน เพราะมันง่ายสำหรับพวกที่ไม่ใช่มังกรจะเรียกเธอ
- ถ้าตัวละครอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มังกรจะใจเย็นลงอย่างรวดเร็วและขอบคุณพวกเขาที่ช่วยลูกของเธอ
- รอนเป็นมิตรและไม่โกรธ และเธอชอบผู้คน ในช่วงที่สงบสันติ เธอชอบจะใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับชาวบ้าน
- ถ้าตัวละครถามว่าคำว่า “นีธา” ที่ลูกมังกรพูดแปลว่าอะไร รอนจะอธิบายว่ามันหมายถึง “แม่จ๋า” ในภาษามังกร
- รอนบอกว่ามังกรจะเรียกลูกมังกรเกิดใหม่ว่า “เวิร์มลิง” ไม่เรียกว่าทารก
รอนสามารถบอกรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไข่ของเธอ:
- รอนเตรียมรังที่นี่เพื่อเตรียมจะฟักไข่และเลี้ยงดูเวิร์มลิงของเธอ เธอไล่พวกโทรลน้ำแข็งตัวอันตรายที่อยู่บริเวณนี้ออกไป
- และเมื่อไข่ใกล้จะฟัก โทรลน้ำแข็งก็เข้ามาโจมตีและขโมยไข่ไปได้หนึ่งฟอง รอนไล่ตามขโมยไปจึงหายออกจากรังไป 3-4 ชม.
- โทรลน้ำแข็งอุ้มไข่ไปและหนีเข้าอุโมงค์ลอดไปที่ภูเขาอีกลูก แต่รอนตัวใหญ่เกินจะติดตามเข้าไปได้ เธอก็จนปัญญาไม่รู้ว่าจะตามหาต่อไปได้ยังไง
เวิร์มลิงที่ได้รับการช่วยเหลือบอกกับแม่ของมันถึงเหตุการที่เกิดขึ้น ซึ่งรอนก็มีเรื่องเล่าให้ตัวละครฟังเพิ่มเติม:
- เวิร์มลิงฟักจากไข่ในขณะที่รอนไล่ตามตัวขโมยไข่ไป มันอยู่ตัวเดียวในรัง เลยออกเดินไปจากรังจนไปโผล่ในป่า
- ตัวละครพบกับเวิร์มลิงและดูแลอย่างดีจนเอามาส่งถึงรังได้
มีเวิร์มลิงเพิ่มขึ้นมาอีก!
เมื่อตัวละครคุยกับรอน ไข่อีก 2 ฟองก็ฟัก รอนคอยเฝ้าดูเวิร์มลิงเจาะเปลือกไข่ออกมาอย่างตั้งใจ และพวกมันคลานมาอ้อนแม่ของพวกมัน เธอไปขุดเอาเนื้อที่แช่เย็นไว้ออกมาป้อนพวกมัน
รางวัล
หลังจากที่ลูกมังกรอีกสองตัวฟักออกมาแล้ว รอนก็พูดกับตัวละคร อ่านข้อความต่อไปนี้:
รอนขอบคุณอีกครั้งสำหรับการช่วยเหลือ “ช่วยรับสิ่งเหล่านี้ไปเพื่อเป็นการขอบคุณจากข้าเถิด” เธอขุดลงไปในหิมะบริเวณใต้จุดที่วางไข่และดึงเอาเพชรแววาวมาให้พวกคุณทุกคน
“ยิ่งกว่านั้น ท่านยังผูกพันกับเวิร์มลิงตัวแรกของข้าไปแล้ว เขาควรจะได้เรียนรู้ว่ามันจะเป็นยังไงหากต้องเติบโตในอาณาจักรของมนุษย์ ท่านจะรับเขาไว้และนำไปดูแลที่หมู่บ้านของพวกท่านได้หรือไม่ ข้าจะคอยเฝ้าระวังพื้นที่โดยรอบเพื่อช่วยปกป้องพวกท่าน และข้าจะอยู่ที่นี่เสมอหากพวกท่านมีคำถาม”
มังกรพูดต่อว่า “ข้ามีอีกเรื่องอยากจะขอร้องพวกท่าน หากข้าค้นพบตำแหน่งที่แน่นอนที่พวกโทรลน้ำแข็งขโมยไข่ฟองสุดท้ายไป พวกท่านจะไปนำมาคืนให้ข้าจะได้หรือไม่ ลูกของข้าจะได้ปลอดภัยจากสิ่งที่พวกโทรลวางแผนจะทำ”
ให้ตัวละครพูดคุยตอบโต้กับสิ่งที่รอนร้องขอ ไม่ว่าตัวละครจะตอบสนองอย่างไร เธอจะสุภาพและใจดีเสมอหากพวกเขาสุภาพและอ่อนโยนกับเธอ
สมบัติ
เพชรเม็ดเล็กแต่ละเม็ดมีค่าเท่ากับ 50 เหรียญทอง ให้ตัวละครแต่ละคนจดลงในชีตตัวละครในช่อง “อุปกรณ์อืน ๆ”
กลับไปหมู่บ้านไพน์บรูก
ช่วงสุดท้ายของการพูดคุย รอนบอกทางลับให้ตัวละครรู้เป็นทางที่จะออกจากภูเขาได้ ซึ่งเป็นการจบการผจญภัย … เฉพาะตอนนี้นะ
หน้าหนังสือที่กัปตันโคล์ให้กับนักผจญภัย
DM โน๊ต
ในตอนที่ต้องตอบคำถามบาฮามุท เราคาดหวังว่าผู้เล่นจะได้ดูหน้าหนังสือที่กัปตันโคล์ให้ไป ซึ่งมันคือคำศัพท์ที่เขาน่าจะเอาคำว่า Orn และ Darastrix มาตอบ แต่บางทีก็ไม่เสมอไป ผมมีหน้ากระดาษที่บอกโต้ง ๆ เลยว่ามังกรเงินนะ
บอกกันชัดเจน อ่านเลย ผ่านแน่นอน 555
อีกอย่างหนึ่งคือเราโปรยมาตั้งแต่ต้นการผจญภัยว่ามีโทรลน้ำแข็งอยู่แถวนี้นะ เข้าถ้ำก็เจอร่องรอยของโทรล ฮิสเวียรอนก็บอกว่าฉันไปสวบพวกโทรลน้ำแข็งมา เราก็ควรจัดโทรลน้ำแข็งให้เป็นบอสสุดท้ายสิ
ถ้าตามหนังสือแล้วโทรลน้ำแข็ง (Ice Troll) มีระดับความท้าทาย 8 (CR 8) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ตัวละครเลเวล 1 จะรอดชีวิตได้หากต้องสู้กัน เราสามารถเอามอนสเตอร์อื่นมาดัดแปลงได้
ถ้ามีผู้เล่น 5 คน ผมแนะนำให้ใช้ หมีสีน้ำตาล (Brown Bear) CR 1 สามารถโจมตีแบบหลายครั้ง (multiattack) คือโจมตีหลายครั้งได้ในเทิร์นของมัน หมีสีน้ำตาล โจมตีได้ 2 ครั้งคือกัดและตบ และเราเพิ่มความสามารถในการ ฟื้นฟูฮิตพอยต์ (Regeneration) ที่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของโทรลเข้าไป
เราสามารถให้โทรลมากับตัวขโมยไข่ 2 ตัว ซึ่งค่อนข้างสูสีกับผู้เล่น 5 คน ที่อาจจะสร้างตัวละครตามปกติจาก dndbeyond มา
เรื่องราวคือหลังจากถูกถล่มรัง โทรลน้ำแข็งก็พยายามมาขโมยไข่ที่เหลือ ซึ่งถ้าตัวละครปกป้องไข่จากโทรลได้ เนื้อเรื่องก็ดูสมเหตุสมผลดี ตื่นเต้นด้วย
โทรลน้ำแข็งนักฝึกสัตว์ (Ice Troll Animal Trainer)
ขนาดใหญ่ ยักษ์ โกลาหล ชั่วร้าย
อาร์เมอร์คลาส (AC) 11
ฮิตพอยต์ 22 (3d10 + 6)
ความเร็ว 30 ฟุต.
STR | DEX | CON | INT | WIS | CHA |
---|---|---|---|---|---|
17 (+3) | 12 (+1) | 15 (+2) | 2 (-4) | 13 (+1) | 7 (-2) |
ทักษะ การรับรู้ (Perception) +3
ประสาทสัมผัส ดาร์กวิชัน 60 ฟุต, การรับรู้โดยธรรมชาติ (passive Perception) 11
ภาษา ยักษ์
ระดับความท้าทาย 1 (200 XP)
โบนัสความเชี่ยวชาญ +2
นักดมกลิ่น (Keen Smell) โทรลน้ำแข็งจะได้ทอยแบบได้เปรียบเมื่อทอยทดสอบการรับรู้ (Perception) เมื่อต้องใช้การดมกลิ่น
ฟื้นฟูอัตโนมัติ (Regeneration). โทรลน้ำแข็งจะฟื้นฟูฮิตพอยต์ 2 เมื่อเริ่มเทิร์นของมัน ถ้ามันได้รับความเสียหายจากกรดหรือไฟ ความสามารถนี้จะไม่สามารถใช้ได้ในเทิร์นถัดไป โทรลน้ำแข็งจะตายหากมันเริ่มเทิร์นด้วยฮิตพอยต์ 0 และไม่สามารถฟื้นฟูฮิตพอยต์ได้
แอ็คชัน
โจมตีหลายครั้ง (Multiattack). โทรลน้ำแข็งจะโจมตีด้วย “การกัด” 1 ครั้ง และ “กรงเล็บ” 1 ครั้ง
กัด (Bite). ทอยโจมตีระยะประชิด: +5, ระยะ 5 ฟุต ความเสียหาย: 7 (1d8 + 3) ความเสียหายแบบแทง (piercing damage).
กรงเล็บ (Claw). ทอยโจมตีระยะประชิด: +5, ระยะ 5 ฟุต ความเสียหาย: 5 (1d4 + 3) ความเสียหายแบบเฉือน (slashing damage), ต้องทอยป้องกันความอดทน (Constitution) DC 10 ถ้าไม่ผ่านจะติดอาการตัวเย็น ทำให้เป้าหมายต้องทอยโจมตีแบบเสียเปรียบ